๕ กรกฎาคม ๒๕๕๒

คำตรัสของพระพุทธเจ้า "มุนี"

นาลกะ เธอจงทำใจให้มั่นคง วางตนให้เหมือนกัน ทั้งแก่คนที่ด่าและยกมือไหว้ ไม่มีความเย่อหยิ่ง รูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งสัมผัสทางกาย ไม่ต่างอะไรไปจากเปลวไฟในป่า

นาลกะ เธอจงรู้ไว้เถิดว่า น้ำในแม่น้ำน้อย ในหนอง ในห้วย ย่อมไหลดัง แต่ว่าน้ำในแม่น้ำใหญ่ย่อมไหลเงียบ สิ่งใดบกพร่อง สิ่งนั้นย่อมมีเสียงดัง สิ่งใดเต็ม สิ่งนั้นย่อมไม่มีเสียงดัง

คนโง่ย่อมทำตน เหมือนหม้อน้ำที่มีน้ำเพียงครึ่งเดียว ส่วนคนฉลาด ย่อมทำตนเหมือนหม้อน้ำที่มีน้ำเต็ม เพราะเป็นผู้สงบ สมณะใดรู้อยู่ สำรวมตน รู้เหตุแห่งความเสื่อมและความทุกข์แล้ว ไม่พูดมาก สมณะนั้นแล ได้ชื่อว่าเป็นมุณี ได้ชื่อว่าปฏิบัติตามปฏิปทาของมุณีได้อย่างเหมาะสม และได้ชื่อว่าบรรลุธรรมที่ทำให้เป็นมุนีแล้ว

เหตุแห่งคำตรัส : นาลกฤาษี

นาลกะเป็นหลายชายอันเกิดแต่น้องสาวของฤาษีอสิตะ (กาฬเทวินดาบส) อสิตดาบส เมื่อเข้าเฝ้าพระกุมารสิทธัตถะแล้ว ก็กลับมาบอกหลานขณะนั้นยังเด็กอยู่ ให้บวชคอยพระพุทธเจ้า ครั้งฤาษีนาลกะบวชได้ ๓๕ พรรษา ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ท่านก็ได้ยินเทวดาป่าวร้องว่าพระพุทธเจ้าทรางแสดงธรรมจักรแล้ว ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ท่านได้ใช้เวลา ๗ วัน ดั้นด้นไปเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลแนะนำและขอพระพุทธองค์ตรัสบอกข้อปฏิบัติของมุณี ซึ่งพระพุทธองค์ก็ได้ตรัสบอกดังส่วนหนึ่งของคำตรัสข้างต้น ทันทีที่ฟังธรรมจบ ท่านทูลขอบวชและน้อมเอาหลักมักน้อย ๓ ประการไปปฏิบัติคือ มักน้อยในการเห็น มักน้อยในการฟัง มักน้อยในการถาม นับเป็นพระสงฆ์รูปที่ ๖

พระนาลกะทูลลาพระพุทธเจ้าหลังจากบวช ไปอยู่อย่างสันโดษในป่าเป็นอิสระ พระพุทธองค์ไม่เรียกให้ไปร่วมประกาศพระธรรม พระนาลกะปฏิบัติโมไนยปฏิปทาอย่างเคร่งครัดขั้นสูงสุดก็บรรลุอรหัตตผล หลังจากนั้น ๗ เดือนก็นิพพาน ด้วยการพนมมือไปยังทิศทางวัดเวฬุวันที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ กายพิงภูเขาหิงคุละด้วยอาการสงบ เป็นผู้นิพพานรูปแรกในพุทธศาสนาอัฐิบรรจุในพระเจดีย์ที่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ


คำตรัสของพระพุทธเจ้า เหตุแห่งคำตรัส หน้า ๓๑

.

.

ไม่มีความคิดเห็น: