๕ กรกฎาคม ๒๕๕๒

คำตรัสของพระพุทธเจ้า "ผู้จมในหล่ม"

ดูก่อนจุนทะ บุคคลผู้จมในหล่ม จะอุ้มบุคคลผู้จมในหล่มด้วยกันให้ขึ้นมานั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ บุคคลผู้ไม่จมในหล่ม จึงจะอุ้มบุคคลผู้จมไปในหล่มให้ขึ้นมาได้

ดูก่อนจุนทะ ผู้ที่ไม่ฝึกฝนตน ไม่ได้แนะนำตน ไม่กระทำตนให้ดับความเร่าร้อนด้วยตนเอง จะฝึกฝน จะแนะนำ และจะกระทำผู้อื่นให้ดับความเร่าร้อนย่อมเป็นไปไม่ได้ มีแต่ผู้ได้ฝึกฝนตน ได้แนะนำตน ได้กระทำตนให้ดับความเร่าร้อนด้วยตนเองแล้วเท่านั้น จึงจะฝึกฝน แนะนำและกระทำให้ผู้อื่นดับความเร่าร้อนได้

ข้อนี้ฉันใด ความไม่เบียดเบียน ก็มีไว้สำหรับดับความเบียดเบียน
การงดเว้นจากการทำลายชีวิตผู้อื่น มีไว้สำหรับดับการทำลายชีวิตผู้อื่น
การงดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ให้ มีไว้สำหรับดับการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ให้นั้น
จนกระทั่งถึงการไม่ถือมั่นทิฏฐิ มีไว้สำหรับดับการถือมั่นทิฏฐิเป็นที่สุด
.
เหตุแห่งคำตรัส : พระจุนทเถระ

พระจุนทเถระเป็นน้องชายต่อจากพระสารีบุตร ต่อจากท่านมีน้องชาย ๒ คน คือ พระอุปเสนเถระและพระเรวตเถระ บิดาชื่อวังคันตพราหมณ์ มารดาชื่อนางสารีพราหมณี ตำบลบ้านนาลกะ หรือนาลันทา แคว้นมคธ ท่านออกบวชตามพี่ชาย มีพระอานนท์เถระเป็นพระอุปัชฌาย์ ครั้นบวชมานานวัน ภิกษะและมหาชนก็พากันเรียกท่านว่า พระมหาจุนทะ หรือพระจุนทสมณุทเทส ซึ่งเป็นชื่อเรียกครั้งที่ท่านยังสามเณร ท่านเป็นพระอรหันต์ตั้งแต่เป็นสามเณรอายุได้เพียง ๗ ขวบเท่านั้น

ท่านมหาจุนทะเป็นธรรมกถึก คือ เป็นนักเทศน์ เป็นผู้ใฝ่ใจในการศึกษา ดังน้นเมื่อมีโอกาสเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าคราใด ท่านมักจะมีคำถาม กราบทูลถามอยู่เนืองๆ ครั้งปฐมพุทธกาลท่านเป็นหนึ่งในหัวหน้าพระอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า

ครั้งนี้พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร พระเถระก็ได้เข้าเฝ้ากราบทูลถามปัญหาเรื่องการละทิฏฐิ ที่ประกอบด้วยอัตตา (ตัวตน) อันเป็นเหตุแห่งคำตรัสตอบข้างบน


คำตรัสของพระพุทธเจ้า เหตุแห่งคำตรัส หน้า ๕๘

.

ไม่มีความคิดเห็น: