๖ กรกฎาคม ๒๕๕๒

๘ ขั้นตอนสู่การให้อภัย



ขั้นตอนที่ ๑
เขียนรายชื่อ “คนที่ให้อภัยไม่ได้” ลงในกระดาษ

เขียนรายชื่อคนที่คุณคิดว่า "ถ้าอภัยได้คงสบายใจขึ้น" และคนที่ "อยากปรับความเข้าใจด้วย" ลงไป วิธีการนี้ยังใช้ได้กับผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว แม้คนที่ให้อภัยไม่ได้จะจากไปแล้ว ก็ให้เขียนชื่อของเขาลงไปด้วย เมื่อได้รายชื่อแล้ว เลือกคนคนหนึ่งที่คุณคิดว่าเหมาะจะลองใช้ "๘ ขั้นตอนสู่การให้อภัย"ดู


ขั้นตอนที่ ๒
ระบายความรู้สึกของตัวเอง

เขียนระบายความรู้สึกที่มีต่อคนคนนั้น ควรเขียนความรู้สึกในใจแทนที่จะเขียนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ถ้ารู้สึกโกรธจะเขียนคำว่า“ คนบ้า” “ทุเรศ” หรือคำอื่นก็ได้และถ้ารู้สึกเป็นทุกข์เศร้าเสียใจก็ขอให้เขียนลงไปด้วย เขียนระบายความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา ถ้าอยากร้องไห้ก็ร้องออกมา ไม่ต้องกลั้นเอาไว้ การร้องไห้จะทำให้รู้สึกสบายใจขึ้น เมื่อเขียนอย่างหมดไส้หมดพุงแล้ว ขอให้ฉีกกระดาษเป็นชิ้นๆแล้วทิ้งลงถังขยะไป

ขั้นตอนที่ ๓
จินตนาการสาเหตุของการกระทำ

๑. เขียนการกระทำของคนคนนั้นที่ทำให้คุณ “ให้อภัยไม่ได้”

๒. ลองจินตนาการสาเหตุที่ทำให้เขาต้องทำเช่นนั้น แรงจูงใจที่ทำให้คนทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยจำแนกออกเป็นสองสาเหตุใหญ่ๆคือ อยากมีความสุข และ อยากเลี่ยงความทุกข์ ลองจินตนาการว่าเขาอยากได้ความสุขแบบใดหรืออยากเลี่ยงความทุกข์แบบไหนถึงได้ทำเช่นนั้น

๓. เมื่อเขียนเสร็จแล้ว อย่าได้ตัดสินการกระทำนั้นว่า "ไม่ถูกต้อง" แต่ขอให้เข้าใจว่าสิ่งนั้นคือการกระทำที่เกิดขึ้นจากความด้อยประสบการณ์ ความไม่รู้ หรือความอ่อนแอ เราทุกคนมักทำผิดพลาดอยู่บ่อยๆ เช่น ทำบางอย่างเพื่อให้มีความสุข แต่กลับกลายเป็นความทุกข์ การกระทำเพื่อหลีกเลี่ยงความทุกข์กลับกลายเป็นเพิ่มความทุกข์ เข้าไปอีก สิ่งนั้นมีสาเหตุมาจากความด้อยประสบการณ์ ความไม่รู้ และความอ่อนแอนั่นเอง เพราะฉะนั้นขอให้คิดเสียว่าการกระทำของคนที่เราให้อภัยไม่ได้ก็เกิดจากความด้อยประสบการณ์ ความไม่รู้ และความอ่อนแอเช่นกัน

๔. ขอให้พิจารณาการกระทำของคนคนนั้นโดยไม่สนใจว่าถูกหรือผิด แล้วพูดออกมาว่า “ คุณก็คงอยากมีความสุข คุณก็คงอยากหนีให้พ้นจากความทุกข์เหมือนกันกับฉัน”


ขั้นตอนที่ ๔
เขียน สิ่งที่ควรขอบคุณ

เขียนสิ่งที่ควรขอบคุณคนคนนั้นออกมาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆก็ขอให้เขียนลงไป แม้ต้องใช้เวลาสักหน่อย เขียนให้มากเข้าไว้ขั้น


ตอนที่ ๕
ขอพลังจากการพูด

๑.ปฏิญาณว่า “ฉันจะให้อภัยคุณเพื่อความเป็นอิสระความสบายใจ และความสุขของตัวเอง”

๒. กล่าวคำขอบคุณซ้ำๆว่า“คุณ (ชื่อ) ขอบคุณครับ/ค่ะ” ถ้าเป็นไปได้ควรพูดออกเสียง จะพูดเบาๆ แค่ให้ตัวเองได้ยินก็ได้ ในขั้นตอนนี้ ไม่จำเป็นต้องรู้สึกขอบคุณจากใจจริง แม้ในจิตใจจะยังรู้สึกไม่ให้อภัย แต่ก็ขอให้เริ่มจากคำพูด ( การกระทำภายนอก) ก่อน ใช้เวลาในขั้นตอนนี้ 10 นาทีเป็นอย่างน้อย เราจพูดได้ประมาณ 400-500 ครั้ง และหากเป็นไปได้ ขอให้พูดต่อเนื่องนาน 30 นาที เพื่อจะได้รู้สึกอยากพูดขอบคุรคนคนนั้นจากความรู้สึกที่แท้จริงแล้วจึงค่อยพูดกับเจ้าตัว


ขั้นตอนที่ ๖
เขียน สิ่งที่อยากขอโทษ
เขียนสิ่งที่อยากขอโทษคนคนนั้นให้มากที่สุด


ขั้นตอนที่ ๗
เขียน สิ่งที่ได้เรียนรู้

เขียนว่า ได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการรู้จักคนคนนั้น คุณอาจได้เรียนรู้หรือรับรู้สิ่งใหม่ๆ จากการคิดเรื่องที่ว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไร ควรทำตัวอย่างไรจึงจะทำให้ทั้งคุณและเขามีความสุข



ขั้นตอนที่8
ประกาศว่า ฉันให้อภัยแล้ว

ประกาศว่า "ฉันให้อภัยคุณแล้ว"





หากทำครบทั้ง ๘ ขั้นตอนแล้ว
แต่ยังรู้สึก “ให้อภัยไม่ได้” ก็ไม่เป็นไร
ให้ทำตามขั้นตอนที่ ๒ ถึง ขั้นตอนที่ ๕ เป็นประจำ
พร้อมนึกถึงหน้าของคนคนนั้นแล้วพูดซ้ำไปซ้ำมาว่า(ชื่อคนๆนั้น) ขอบคุณครับ/ค่ะ
ทำอย่างน้อยวันละ๕นาทีแล้ววันหนึ่งความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นกับคุณแน่นอน

................................................................................................................................

จากหนังสือ : กฎแห่งกระจก (A rule of a mirror)
เขียนโดย : โยชิโนริ โนงุจิ
แปลโดย : ทิพย์วรรณ ยามาโมโตะ

.

แนวทางปฏิบัติสู่ความสงบสุข



  • ฝึกสมาธิหรือนั่งเงียบๆ ทุกวัน นี่เป็นวิธีที่จะทำให้ใจของเราสงบและควบคุมจิตของเราเพื่อเราจะได้มีความสุข


  • ส่งพลังแห่งความเมตตาให้กับสิ่งมีชีวิตทั้งหลายตลอดทั้งวัน


  • ก่อนนอนทุกคืน ใช้เวลา 2 - 3 นาที ตรึกตรองสิ่งที่เราปฏิบัติมาตลอดทั้งวัน แล้วตั้งใจว่าจะแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น


  • ควบคุมความโกรธ จำไว้เสมอว่าเมื่อมีคนมาด่าเรา เขากำลังช่วยเหลือเราให้เรามีประสบการณ์ที่ดีที่จะฝึกการควบคุมตัวเอง เขาเป็นอาจารย์ของเรา

  • ท่องชื่อผู้ที่เราศรัทธาหรือคำที่ศักดิ์สิทธิ์ก็จะช่วยให้เรารู้สึกสบายใจ


  • ร้องเพลงที่ช่วยยกระดับจิตวิญญาณของเราให้ดีขึ้นหรือเพลงที่เต็มไปด้วยคุณค่าของความเป็นมนุษย์


  • แสวงหาเพื่อนที่ดี


  • เรียนรู้ที่จะให้สันติแก่คนอื่น ปรนนิบัติและช่วยเหลือคนอื่นให้เขาสบายใจ


  • ฝึกการให้ความเงียบ พูดคำพูดที่เบาๆ และสุภาพอ่อนโยน พูดแต่สิ่งที่ดี มีสาระ ถ้าไม่รู้จะพูดอะไรดีก็ให้นิ่งไว้


  • ฝึกการหายใจ หายใจช้าๆ ลึกๆ และสม่ำเสมอตลอดเวลา และให้เราตื่นตัวตลอดเวลาถ้ามีสิ่งใดมารบกวนระบบการหายใจของเรา ความสงบสุขมีความสัมพันธ์กับระบบหายใจมาก คนเจ้าอารมณ์และคนที่โกรธง่ายมักจะหายใจเร็ว แต่คนที่ฝึกสมาธิเป็นประจำจะรู้สึกสงบสุขและเต็มไปด้วยความสงบ จะหายใจช้าๆ ซึ่งการหายใจช้าๆ ลึกๆ และสม่ำเสมอจะช่วยให้เราสามารถบังคับตนเองได้ มีความสงบและมีความสุข


  • สะสมเพิ่มพูนคุณค่าของความเป็นมนุษย์ในชีวิตประจำวันของเรา

จากหนังสือ แนวทางความสุข หน้า ๒๐๗


ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา


คำตรัสของพระพุทธเจ้า "คนอดทน"



"อดทนหน่อยองคุลิมาล ! ความเดือนร้อนที่เธอได้รับนี้ย่อมเปรียบไม่ได้เลยกับความเดือดร้อนที่เธอเคยทำไว้แก่คนอื่น คนอดทนชื่อว่าบูชาเราผู้ชนะ ด้วยการบูชาอันเยี่ยม"

เหตุแห่งคำตรัส : พระองคุลิมาลเถระ

พระองคุลิมาลแม้เป็นพระแล้ว ก็มีความยากลำบากในการดำรงชีวิต เมื่อไปบิณฑบาตชาวบ้านก็พากันหนีหัวซุกหัวซุนด้วยความหวาดกลัว ครั้นทราบว่าพระไม่ทำร้ายใครแล้วก็พากันด่าว่าสาปแช่งขว้างปาด้วยอิฐด้วยหิน แม้พระที่ไปด้วยก็พลอยลำบาก ขาดปัจจัยอาหารไปด้วยเช่นกัน พระพุทธเจ้าจึงเสด็จมาเยี่ยมและปลอบใจพระองคุลิมาล ดังคำตรัสข้างต้น


เมื่อองคุลิมาลพบหญิงท้องแก่มาใส่บาตร ครั้นเห็นหน้าก็จำได้ว่าเป็นองคุลิมาล นางทิ้งถาดอาหารวิ่งหนีรอดรั้ว แต่ติดท้องคาอยู่จึงรอดไปไม่ได้ พระองคุลิมาลเห็นเช่นนั้นทั้งสลดสมเพชและเกิดจิตเมตตาสงสารอย่างมาก พระพุทธเจ้าทรงแนะให้โปรดสัตว์ด้วยการกล่าวสัจวาจา

รุ่งขึ้นพระองคุลิมาลจึงตรงไปยังบ้านหญิงมีครรภ์และกล่าวว่า "ดูก่อนน้องหญิง เพราะเหตุที่เราผู้เกิดแล้วโดยอริยาชาติ (บวชเป็นบรรพชิต) มิได้แกล้งฆ่าสัตว์ตัดชีวิตทั้งที่รู้อยู่ ด้วยสัจจะนั้น ขอความสวัสดีจงมีแก่น้องหญิงและบุตรในครรภ์เถิด" หญิงนั้นก็คลอดบุตรได้โดยง่าย

แต่นั้นมาความลำบากยากเข็ญลดน้อยลง พอจะมีผู้ใส่บาตรให้บ้าง ท่านปลีกตนไปอยู่ป่าบำเพ็ญเพียรจนบรรลุอรหันตตผล วันหนึ่งได้เข้าเมืองเพื่อบิณฑบาต มีก้อนหิน ก้อนดิน ท่อนไม้ ก้อนกรวดอันชาวบ้านประสงค์จะขว้างไล่กา แต่กรรมบาปที่ท่านได้กระทำมาจึงทำให้บังเอิญมาตกที่ตัวท่านจนศีรษะแตกโลหิตไหลโทรมกาย บาตรแตก สังฆาฏิขาดวิ่น กระนั่นท่านก็สำรวมกายใจสงบ เดินอย่างสำรวมทนทุกขเวทนามาเฝ้าพระพุทธเจ้า ในที่สุดพระองคุลิมาลก็ใช้กรรมในชาตินี้แล้ว และนิพพานในเวลาต่อมา

คำตรัสของพระพุทธเจ้า เหตุแห่งคำตรัส หน้า ๙๙
ขอบคุณภาพประกอบ จาก Buddhist Elibery


.

คำตรัสของพระพุทธเจ้า "มุสาโทษ"


"ภิกษุทั้งหลาย! บุคคลเมื่อยังไม่พิจารณา หรือยังไม่เห็นโทษของผู้อื่นโดยชัดเจนแล้ว ก็ไม่พึงลงโทษผู้ใด อนึ่ง บุคคลผู้ละความสัตย์เสียแล้ว และชอบพูดแต่มุสา ไม่สนใจในเรื่องปรโลก จะไม่ทำบาปนั้นเป็นอันไม่มี"


เหตุแห่งคำตรัส : นางจิญจมาณวิกา

ขณะที่ขบวนการนางจิญจมาณวิกาปริพาชกและเหล่าเดียรถีย์ ช่วยกันโหมกระพือข่าวว่านางจิญจมาณวิการเป็นนางบำเรอของพระพุทธเจ้าออกไปในทุกหย่อมหญ้า พระพุทธเจ้ายังคงสงบเป็นปกติ พระอานนท์สิทุกข์เหลือหลาย วันหนึ่งจึงปลีกวิเวกเข้าไปนั่งหลบผู้คนยังดงไม้สีเสียดเพียงลำพัง ขณะนั้นมีมาณพตระกูลพราหมณ์สองคนเดินเข้ามายังบริเวณที่ท่านนั่ง คือ วาเสฎฐะ กับ ภารัทวชะ วาเสฏฐะปรารภขึ้นมาว่า ตนนั้นเชื่อเรื่องเล่าลือเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า ท่านละเชื่อหรือเปล่า ภารัทวชะกล่าวตอบอย่างนุ่มนวลว่า

"แต่ฉันยังไม่เชื่อ เรื่องอย่างนี้ใส่ร้ายกันได้ ผู้หญิงเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดของคนใจบาป ที่จะใช้เป็นเครื่องทำลายเกียรติยศของใครต่อใคร เพื่อนรักอย่าเชื่ออะไรง่ายเกินไป คอยดูกันให้ถึงที่สุด คนในโลกนี้ชอบใส่ร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ประโยชน์ขัดกัน" พระอานนท์ได้ฟังดังนั้นใจก็ชื้นแล้ว

เมื่อเรื่องราวของนางจิญจมาณวิกาใส่ร้ายพระพุทธเจ้าจบลงแล้ว ผู้เฒ่าผู้แก่จึงสั่งสอนบุตรธิดาว่า อย่าเอาอย่างนางจิญจมาวิกา และเปรียบเป็นคำพังเพยว่า "อย่าปาอุจจาระขึ้นฟ้า" แม้ในหมู่สงฆ์เองก็มีการประชุมกัน ณ ธรรมสภา วัดเชตวันมหาวิหาร ได้กล่าวถึงเรื่องนี้เช่นกัน อันเป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าตรัสคำข้างต้น เพื่อให้มีสติในการพิจารณาโทษผู้อื่น


คำตรัสพระพุทธเจ้า เหตุแห่งคำตรัส หน้า ๙๑

.

.

คำตรัสของพระพุทธเจ้า "เรือนกระดูก"


"เธอจงพิจารณากายที่อาดูร ไม่สะอาด เปื่อยเน่าไหลเข้าไหลออก ซึ่งคนเขลาปราถนายิ่งนัก เธอจงเห็นธาตุทั้งหลายโดยเป็นของว่างเปล่า อย่ามาสู่โลกอีก เธอสำรอกความพอใจในภพชาติเสีย จักระงับอยู่ตลอดไป สรีรกายนี้ ถูกสร้างให้เป็นเมืองกระดูก ฉาบด้วยเนื้อและเลือด เป็นที่ตั้งแห่งความแก่ ความตาย ความทระนง และความลบหลู่"

เหตุแห่งคำตรัส : พระรูปนันทาเถรี

พระรูปนันทาเถรีก็คือ นางรูปนันทาเทวี หรือนางชนบทกัลยานี พระธิดาของนางปชาบดีโคตมี มีพระนันทภิกขุเป็นพระเชรษฐา เมื่อวันอาวาหวิวาหมงคลของนางกับนันทกุมารนั้น พระพุทธเจ้าก็ได้พรากนันทกุมารไปบวชเสีย ต่อมาพระบิดาสุทโธทนะก็สิ้นพระชนม์ พระมารดาก็ออกบวช พระกนิษฐาสุนิสา (พี่สะใภ้คือพระนางยโสธราพิมพา) ก็ออกบวช พระนางจึงออกบวชด้วย อาศัยอยู่ในวัดเชตวันมหาวิหาร

แต่เพราะเป็นคนสวย แม้บวชแล้วก็ยังติดอยู่ในรูปสมบัติ จึงไม่ยอมฟังธรรมของพระพุทธเจ้า เพราะกลัวพระพุทธองค์จะเทศน์ติรูป วันหนึ่งได้ข่าวว่าพระพุทธองค์ทรงเทศน์เพราะนัก จึงแอบไปนั่งเบื้องหลังสุดเพื่อฟังธรรมในธรรมสภา ขณะฟังธรรมได้เห็นสตรีผู้หนึ่งยืนถวายงานพัดพระพุทธเจ้า อายุ ๑๖ ปี นางเป็นหญิงงดงามเกินเปรียบ เมื่อเทียบกับตนเองแล้วด้อยกว่าสตรีนางนั้นมาก ต่อมาก็เห็นสตรีนางนั้นอายุ ๒๐ ปี ความงามลดลงหน่อยหนึ่ง ต่อมาหญิงนั้นก็เปลี่ยนเป็นสตรีผู้มีบุตร ต่อมาก็กลายเป็นหญิงกลางคน คนแก่ และแก่หง่อมหมดความงามทั้งปวง พระพุทธเจ้าก็มาถึงบทเทศนาข้างต้นนั้น มุ่งไปที่พระรูปนันทาเถรีโดยเฉพาะ

จิตของพระรูปนันทาพิจารณาตาม ก็ได้วิมุตติหลุดพ้นจากอาสวะทั้งปวง บรรลุอรหันตผลในวันนั้น


คำตรัสพระพุทธเจ้า เหตุแห่งคำตรัส หน้า ๙๐

.

คำตรัสพระพุทธเจ้า "ผู้มีราตรีเดียวเจริญกว่า"


"ผู้มีปัญญาไม่ควรตามคิดถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ไม่ควรมุ่งหมายถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง เพราะว่าสิ่งใดที่ล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็ละเสียแล้ว สิ่งใดที่ยังไม่มาถึง สิ่งนั้นก็ยังไม่ได้มาถึง ผู้ใดเห็นแจ้งธรรมที่เกิดจขึ้นจำเพาะหน้าในที่นั้นๆ ในกาลนั้นๆ ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลน ครั้นรู้ธรรมนั้นแล้ว พึงให้ธรรมนั้นเจริญเนืองๆ

ควรเพียรควรทำเสียในวันนี้แหละ ใครเล่าจะพึงรู้ว่าความตายจะมีต่อพรุ่งนี้ เพราะว่าความผิดเพี้ยนต่อมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่ ไม่มีเลย
ผู้รู้ที่เป็นคนสงบระงับ ย่อมกล่าสรรเสริญผู้มีความเพียร ไม่เกียจคร้านในกลางวัน กลางคืน อยู่ด้วยความไม่ประมาทอย่างนี้ว่า "ผู้มีราตรีเดียวเจริญกว่า"

เหตุแห่งคำตรัส : พระมหากัจจายนเถระ

"ฯลฯ...พระมหากัจจายนะจำพรรษาอยู่แคว้นอวันตีได้หลายพรรษา ก็กลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้าที่วัดเชตวัน วันหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงภัทเทกรัตตสูตร โดยย่อดังคำตรัสข้างต้น จากนั้นพระพุทธองค์ก็เสด็จเข้าสู่พระวิหารที่ประทับ

ภิกษุทั้งหลายไม่มีโอกาสกราบทูลถามข้อสงสัยในคำตรัสข้างต้น จึงนิมนต์ให้พระมหากัจจายนะอธิบายให้ฟัง จนเข้าใจอย่างลึกซึ้ง พระพุทธเจ้าทรงกล่าวสรรเสริญว่า พระมหากัจจายนะเป็นเอตทัคคะด้านขยายความย่อให้พิสดารได้อย่างชัดเจน เป็นหนึ่งในพระอรหันต์ที่เข้าร่วมสังคายนาครั้งแรกที่ถ้ำสัตบรรคูหา เมืองราชคฤห์ ....ฯลฯ"


คำตรัสของพระพุทธเจ้า เหตุแห่งคำตรัส หน้า ๖๘

ขอบคุณภาพประกอบ จาก burgs'blog.

.

๕ กรกฎาคม ๒๕๕๒

พระคาถาเปิดตาปัญญา : สุนทรีวาณี



มุนินทะ วะทะนัม พุชะ

คัพพะ สัมคะวะ สุนทรี

ปราณีนัง สะระณัง วาณี

มัยหัง ปินะยะตัง มะนัง


พระธรรมคำสั่งสอน ซึ่งล้วนอุบัติจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้าอันมีความงา มล้ำเลิศประดุจนางฟ้าซึ่งถือกำเนิดจากดอกบัวการเอ่ยว าจานี้ ย่อมยังจิตใจข้าพเจ้า ให้แช่มชื่นเบิกบานแจ่มใส


พระคาถาเปิดตาปัญญา : สุนทรีวาณี เมื่อกล่าวพระคาถานี้แล้วจะมีความจำแม่นยำ คิดอะไรแจ่มใสทะลุปรุโปร่ง มีปัญญา มีสมาธิ มีความสุข คลายความประหม่าเมื่อต้องพูดท่ามกลางหมู่คน สร้างให้เกิดความมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองพูด
.
คำว่าสุนทรี แปลว่างาม วาณี แปลว่านางฟ้า นัยยะสำคัญของพระคาถานี้ นอกจากจะได้ระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยแล้ว จะรวมคุณของบิดามารดาด้วย เนื่องจากเป็นคาถาที่ชูความเป็นแม่ของทุกคน ผู้ที่สวดจะได้รับความคุ้มครองพิทักษ์รักษาจากนางฟ้า เหล่าเทวดานางฟ้าทั้งหลาย ท่านได้รับคำสรรเสริญนี้ จะมีความเบิกบาน กระแสจิตที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตาจะส่งกลับมายัง ผู้เจริญคาถานี้
.
ที่มา เป็นคาถาโบราณตั้งแต่สมัยสมเด็จพระสังฆราชในสมัยรัชก าลที่ 3 (วัดราชสิทธาราม) ซึ่งใครก็ตามที่เป็นลูกศิษย์ท่าน จะต้องเรียนคาถานี้ ไม่ว่าจะเรียนทางด้านปริยัติ หรือ ปฏิบัติ ซึ่งในอดีตตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาบที่ 5 ก็ได้เคยทรงเจริญพระคาถานี้ สมเด็จพระวันรัต (แดง) วัดสระเกศ ก็ได้ถวายให้รัชกาลที่ 5 ได้ทรงเจริญพระคาถานี้ด้วย
.
.
ขอบคุณเนื้อหาและภาพประกอบ จาก rinnn
.
.