๖ กรกฎาคม ๒๕๕๒

๘ ขั้นตอนสู่การให้อภัย



ขั้นตอนที่ ๑
เขียนรายชื่อ “คนที่ให้อภัยไม่ได้” ลงในกระดาษ

เขียนรายชื่อคนที่คุณคิดว่า "ถ้าอภัยได้คงสบายใจขึ้น" และคนที่ "อยากปรับความเข้าใจด้วย" ลงไป วิธีการนี้ยังใช้ได้กับผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว แม้คนที่ให้อภัยไม่ได้จะจากไปแล้ว ก็ให้เขียนชื่อของเขาลงไปด้วย เมื่อได้รายชื่อแล้ว เลือกคนคนหนึ่งที่คุณคิดว่าเหมาะจะลองใช้ "๘ ขั้นตอนสู่การให้อภัย"ดู


ขั้นตอนที่ ๒
ระบายความรู้สึกของตัวเอง

เขียนระบายความรู้สึกที่มีต่อคนคนนั้น ควรเขียนความรู้สึกในใจแทนที่จะเขียนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ถ้ารู้สึกโกรธจะเขียนคำว่า“ คนบ้า” “ทุเรศ” หรือคำอื่นก็ได้และถ้ารู้สึกเป็นทุกข์เศร้าเสียใจก็ขอให้เขียนลงไปด้วย เขียนระบายความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา ถ้าอยากร้องไห้ก็ร้องออกมา ไม่ต้องกลั้นเอาไว้ การร้องไห้จะทำให้รู้สึกสบายใจขึ้น เมื่อเขียนอย่างหมดไส้หมดพุงแล้ว ขอให้ฉีกกระดาษเป็นชิ้นๆแล้วทิ้งลงถังขยะไป

ขั้นตอนที่ ๓
จินตนาการสาเหตุของการกระทำ

๑. เขียนการกระทำของคนคนนั้นที่ทำให้คุณ “ให้อภัยไม่ได้”

๒. ลองจินตนาการสาเหตุที่ทำให้เขาต้องทำเช่นนั้น แรงจูงใจที่ทำให้คนทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยจำแนกออกเป็นสองสาเหตุใหญ่ๆคือ อยากมีความสุข และ อยากเลี่ยงความทุกข์ ลองจินตนาการว่าเขาอยากได้ความสุขแบบใดหรืออยากเลี่ยงความทุกข์แบบไหนถึงได้ทำเช่นนั้น

๓. เมื่อเขียนเสร็จแล้ว อย่าได้ตัดสินการกระทำนั้นว่า "ไม่ถูกต้อง" แต่ขอให้เข้าใจว่าสิ่งนั้นคือการกระทำที่เกิดขึ้นจากความด้อยประสบการณ์ ความไม่รู้ หรือความอ่อนแอ เราทุกคนมักทำผิดพลาดอยู่บ่อยๆ เช่น ทำบางอย่างเพื่อให้มีความสุข แต่กลับกลายเป็นความทุกข์ การกระทำเพื่อหลีกเลี่ยงความทุกข์กลับกลายเป็นเพิ่มความทุกข์ เข้าไปอีก สิ่งนั้นมีสาเหตุมาจากความด้อยประสบการณ์ ความไม่รู้ และความอ่อนแอนั่นเอง เพราะฉะนั้นขอให้คิดเสียว่าการกระทำของคนที่เราให้อภัยไม่ได้ก็เกิดจากความด้อยประสบการณ์ ความไม่รู้ และความอ่อนแอเช่นกัน

๔. ขอให้พิจารณาการกระทำของคนคนนั้นโดยไม่สนใจว่าถูกหรือผิด แล้วพูดออกมาว่า “ คุณก็คงอยากมีความสุข คุณก็คงอยากหนีให้พ้นจากความทุกข์เหมือนกันกับฉัน”


ขั้นตอนที่ ๔
เขียน สิ่งที่ควรขอบคุณ

เขียนสิ่งที่ควรขอบคุณคนคนนั้นออกมาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆก็ขอให้เขียนลงไป แม้ต้องใช้เวลาสักหน่อย เขียนให้มากเข้าไว้ขั้น


ตอนที่ ๕
ขอพลังจากการพูด

๑.ปฏิญาณว่า “ฉันจะให้อภัยคุณเพื่อความเป็นอิสระความสบายใจ และความสุขของตัวเอง”

๒. กล่าวคำขอบคุณซ้ำๆว่า“คุณ (ชื่อ) ขอบคุณครับ/ค่ะ” ถ้าเป็นไปได้ควรพูดออกเสียง จะพูดเบาๆ แค่ให้ตัวเองได้ยินก็ได้ ในขั้นตอนนี้ ไม่จำเป็นต้องรู้สึกขอบคุณจากใจจริง แม้ในจิตใจจะยังรู้สึกไม่ให้อภัย แต่ก็ขอให้เริ่มจากคำพูด ( การกระทำภายนอก) ก่อน ใช้เวลาในขั้นตอนนี้ 10 นาทีเป็นอย่างน้อย เราจพูดได้ประมาณ 400-500 ครั้ง และหากเป็นไปได้ ขอให้พูดต่อเนื่องนาน 30 นาที เพื่อจะได้รู้สึกอยากพูดขอบคุรคนคนนั้นจากความรู้สึกที่แท้จริงแล้วจึงค่อยพูดกับเจ้าตัว


ขั้นตอนที่ ๖
เขียน สิ่งที่อยากขอโทษ
เขียนสิ่งที่อยากขอโทษคนคนนั้นให้มากที่สุด


ขั้นตอนที่ ๗
เขียน สิ่งที่ได้เรียนรู้

เขียนว่า ได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการรู้จักคนคนนั้น คุณอาจได้เรียนรู้หรือรับรู้สิ่งใหม่ๆ จากการคิดเรื่องที่ว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไร ควรทำตัวอย่างไรจึงจะทำให้ทั้งคุณและเขามีความสุข



ขั้นตอนที่8
ประกาศว่า ฉันให้อภัยแล้ว

ประกาศว่า "ฉันให้อภัยคุณแล้ว"





หากทำครบทั้ง ๘ ขั้นตอนแล้ว
แต่ยังรู้สึก “ให้อภัยไม่ได้” ก็ไม่เป็นไร
ให้ทำตามขั้นตอนที่ ๒ ถึง ขั้นตอนที่ ๕ เป็นประจำ
พร้อมนึกถึงหน้าของคนคนนั้นแล้วพูดซ้ำไปซ้ำมาว่า(ชื่อคนๆนั้น) ขอบคุณครับ/ค่ะ
ทำอย่างน้อยวันละ๕นาทีแล้ววันหนึ่งความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นกับคุณแน่นอน

................................................................................................................................

จากหนังสือ : กฎแห่งกระจก (A rule of a mirror)
เขียนโดย : โยชิโนริ โนงุจิ
แปลโดย : ทิพย์วรรณ ยามาโมโตะ

.

แนวทางปฏิบัติสู่ความสงบสุข



  • ฝึกสมาธิหรือนั่งเงียบๆ ทุกวัน นี่เป็นวิธีที่จะทำให้ใจของเราสงบและควบคุมจิตของเราเพื่อเราจะได้มีความสุข


  • ส่งพลังแห่งความเมตตาให้กับสิ่งมีชีวิตทั้งหลายตลอดทั้งวัน


  • ก่อนนอนทุกคืน ใช้เวลา 2 - 3 นาที ตรึกตรองสิ่งที่เราปฏิบัติมาตลอดทั้งวัน แล้วตั้งใจว่าจะแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น


  • ควบคุมความโกรธ จำไว้เสมอว่าเมื่อมีคนมาด่าเรา เขากำลังช่วยเหลือเราให้เรามีประสบการณ์ที่ดีที่จะฝึกการควบคุมตัวเอง เขาเป็นอาจารย์ของเรา

  • ท่องชื่อผู้ที่เราศรัทธาหรือคำที่ศักดิ์สิทธิ์ก็จะช่วยให้เรารู้สึกสบายใจ


  • ร้องเพลงที่ช่วยยกระดับจิตวิญญาณของเราให้ดีขึ้นหรือเพลงที่เต็มไปด้วยคุณค่าของความเป็นมนุษย์


  • แสวงหาเพื่อนที่ดี


  • เรียนรู้ที่จะให้สันติแก่คนอื่น ปรนนิบัติและช่วยเหลือคนอื่นให้เขาสบายใจ


  • ฝึกการให้ความเงียบ พูดคำพูดที่เบาๆ และสุภาพอ่อนโยน พูดแต่สิ่งที่ดี มีสาระ ถ้าไม่รู้จะพูดอะไรดีก็ให้นิ่งไว้


  • ฝึกการหายใจ หายใจช้าๆ ลึกๆ และสม่ำเสมอตลอดเวลา และให้เราตื่นตัวตลอดเวลาถ้ามีสิ่งใดมารบกวนระบบการหายใจของเรา ความสงบสุขมีความสัมพันธ์กับระบบหายใจมาก คนเจ้าอารมณ์และคนที่โกรธง่ายมักจะหายใจเร็ว แต่คนที่ฝึกสมาธิเป็นประจำจะรู้สึกสงบสุขและเต็มไปด้วยความสงบ จะหายใจช้าๆ ซึ่งการหายใจช้าๆ ลึกๆ และสม่ำเสมอจะช่วยให้เราสามารถบังคับตนเองได้ มีความสงบและมีความสุข


  • สะสมเพิ่มพูนคุณค่าของความเป็นมนุษย์ในชีวิตประจำวันของเรา

จากหนังสือ แนวทางความสุข หน้า ๒๐๗


ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา


คำตรัสของพระพุทธเจ้า "คนอดทน"



"อดทนหน่อยองคุลิมาล ! ความเดือนร้อนที่เธอได้รับนี้ย่อมเปรียบไม่ได้เลยกับความเดือดร้อนที่เธอเคยทำไว้แก่คนอื่น คนอดทนชื่อว่าบูชาเราผู้ชนะ ด้วยการบูชาอันเยี่ยม"

เหตุแห่งคำตรัส : พระองคุลิมาลเถระ

พระองคุลิมาลแม้เป็นพระแล้ว ก็มีความยากลำบากในการดำรงชีวิต เมื่อไปบิณฑบาตชาวบ้านก็พากันหนีหัวซุกหัวซุนด้วยความหวาดกลัว ครั้นทราบว่าพระไม่ทำร้ายใครแล้วก็พากันด่าว่าสาปแช่งขว้างปาด้วยอิฐด้วยหิน แม้พระที่ไปด้วยก็พลอยลำบาก ขาดปัจจัยอาหารไปด้วยเช่นกัน พระพุทธเจ้าจึงเสด็จมาเยี่ยมและปลอบใจพระองคุลิมาล ดังคำตรัสข้างต้น


เมื่อองคุลิมาลพบหญิงท้องแก่มาใส่บาตร ครั้นเห็นหน้าก็จำได้ว่าเป็นองคุลิมาล นางทิ้งถาดอาหารวิ่งหนีรอดรั้ว แต่ติดท้องคาอยู่จึงรอดไปไม่ได้ พระองคุลิมาลเห็นเช่นนั้นทั้งสลดสมเพชและเกิดจิตเมตตาสงสารอย่างมาก พระพุทธเจ้าทรงแนะให้โปรดสัตว์ด้วยการกล่าวสัจวาจา

รุ่งขึ้นพระองคุลิมาลจึงตรงไปยังบ้านหญิงมีครรภ์และกล่าวว่า "ดูก่อนน้องหญิง เพราะเหตุที่เราผู้เกิดแล้วโดยอริยาชาติ (บวชเป็นบรรพชิต) มิได้แกล้งฆ่าสัตว์ตัดชีวิตทั้งที่รู้อยู่ ด้วยสัจจะนั้น ขอความสวัสดีจงมีแก่น้องหญิงและบุตรในครรภ์เถิด" หญิงนั้นก็คลอดบุตรได้โดยง่าย

แต่นั้นมาความลำบากยากเข็ญลดน้อยลง พอจะมีผู้ใส่บาตรให้บ้าง ท่านปลีกตนไปอยู่ป่าบำเพ็ญเพียรจนบรรลุอรหันตตผล วันหนึ่งได้เข้าเมืองเพื่อบิณฑบาต มีก้อนหิน ก้อนดิน ท่อนไม้ ก้อนกรวดอันชาวบ้านประสงค์จะขว้างไล่กา แต่กรรมบาปที่ท่านได้กระทำมาจึงทำให้บังเอิญมาตกที่ตัวท่านจนศีรษะแตกโลหิตไหลโทรมกาย บาตรแตก สังฆาฏิขาดวิ่น กระนั่นท่านก็สำรวมกายใจสงบ เดินอย่างสำรวมทนทุกขเวทนามาเฝ้าพระพุทธเจ้า ในที่สุดพระองคุลิมาลก็ใช้กรรมในชาตินี้แล้ว และนิพพานในเวลาต่อมา

คำตรัสของพระพุทธเจ้า เหตุแห่งคำตรัส หน้า ๙๙
ขอบคุณภาพประกอบ จาก Buddhist Elibery


.

คำตรัสของพระพุทธเจ้า "มุสาโทษ"


"ภิกษุทั้งหลาย! บุคคลเมื่อยังไม่พิจารณา หรือยังไม่เห็นโทษของผู้อื่นโดยชัดเจนแล้ว ก็ไม่พึงลงโทษผู้ใด อนึ่ง บุคคลผู้ละความสัตย์เสียแล้ว และชอบพูดแต่มุสา ไม่สนใจในเรื่องปรโลก จะไม่ทำบาปนั้นเป็นอันไม่มี"


เหตุแห่งคำตรัส : นางจิญจมาณวิกา

ขณะที่ขบวนการนางจิญจมาณวิกาปริพาชกและเหล่าเดียรถีย์ ช่วยกันโหมกระพือข่าวว่านางจิญจมาณวิการเป็นนางบำเรอของพระพุทธเจ้าออกไปในทุกหย่อมหญ้า พระพุทธเจ้ายังคงสงบเป็นปกติ พระอานนท์สิทุกข์เหลือหลาย วันหนึ่งจึงปลีกวิเวกเข้าไปนั่งหลบผู้คนยังดงไม้สีเสียดเพียงลำพัง ขณะนั้นมีมาณพตระกูลพราหมณ์สองคนเดินเข้ามายังบริเวณที่ท่านนั่ง คือ วาเสฎฐะ กับ ภารัทวชะ วาเสฏฐะปรารภขึ้นมาว่า ตนนั้นเชื่อเรื่องเล่าลือเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า ท่านละเชื่อหรือเปล่า ภารัทวชะกล่าวตอบอย่างนุ่มนวลว่า

"แต่ฉันยังไม่เชื่อ เรื่องอย่างนี้ใส่ร้ายกันได้ ผู้หญิงเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดของคนใจบาป ที่จะใช้เป็นเครื่องทำลายเกียรติยศของใครต่อใคร เพื่อนรักอย่าเชื่ออะไรง่ายเกินไป คอยดูกันให้ถึงที่สุด คนในโลกนี้ชอบใส่ร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ประโยชน์ขัดกัน" พระอานนท์ได้ฟังดังนั้นใจก็ชื้นแล้ว

เมื่อเรื่องราวของนางจิญจมาณวิกาใส่ร้ายพระพุทธเจ้าจบลงแล้ว ผู้เฒ่าผู้แก่จึงสั่งสอนบุตรธิดาว่า อย่าเอาอย่างนางจิญจมาวิกา และเปรียบเป็นคำพังเพยว่า "อย่าปาอุจจาระขึ้นฟ้า" แม้ในหมู่สงฆ์เองก็มีการประชุมกัน ณ ธรรมสภา วัดเชตวันมหาวิหาร ได้กล่าวถึงเรื่องนี้เช่นกัน อันเป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าตรัสคำข้างต้น เพื่อให้มีสติในการพิจารณาโทษผู้อื่น


คำตรัสพระพุทธเจ้า เหตุแห่งคำตรัส หน้า ๙๑

.

.

คำตรัสของพระพุทธเจ้า "เรือนกระดูก"


"เธอจงพิจารณากายที่อาดูร ไม่สะอาด เปื่อยเน่าไหลเข้าไหลออก ซึ่งคนเขลาปราถนายิ่งนัก เธอจงเห็นธาตุทั้งหลายโดยเป็นของว่างเปล่า อย่ามาสู่โลกอีก เธอสำรอกความพอใจในภพชาติเสีย จักระงับอยู่ตลอดไป สรีรกายนี้ ถูกสร้างให้เป็นเมืองกระดูก ฉาบด้วยเนื้อและเลือด เป็นที่ตั้งแห่งความแก่ ความตาย ความทระนง และความลบหลู่"

เหตุแห่งคำตรัส : พระรูปนันทาเถรี

พระรูปนันทาเถรีก็คือ นางรูปนันทาเทวี หรือนางชนบทกัลยานี พระธิดาของนางปชาบดีโคตมี มีพระนันทภิกขุเป็นพระเชรษฐา เมื่อวันอาวาหวิวาหมงคลของนางกับนันทกุมารนั้น พระพุทธเจ้าก็ได้พรากนันทกุมารไปบวชเสีย ต่อมาพระบิดาสุทโธทนะก็สิ้นพระชนม์ พระมารดาก็ออกบวช พระกนิษฐาสุนิสา (พี่สะใภ้คือพระนางยโสธราพิมพา) ก็ออกบวช พระนางจึงออกบวชด้วย อาศัยอยู่ในวัดเชตวันมหาวิหาร

แต่เพราะเป็นคนสวย แม้บวชแล้วก็ยังติดอยู่ในรูปสมบัติ จึงไม่ยอมฟังธรรมของพระพุทธเจ้า เพราะกลัวพระพุทธองค์จะเทศน์ติรูป วันหนึ่งได้ข่าวว่าพระพุทธองค์ทรงเทศน์เพราะนัก จึงแอบไปนั่งเบื้องหลังสุดเพื่อฟังธรรมในธรรมสภา ขณะฟังธรรมได้เห็นสตรีผู้หนึ่งยืนถวายงานพัดพระพุทธเจ้า อายุ ๑๖ ปี นางเป็นหญิงงดงามเกินเปรียบ เมื่อเทียบกับตนเองแล้วด้อยกว่าสตรีนางนั้นมาก ต่อมาก็เห็นสตรีนางนั้นอายุ ๒๐ ปี ความงามลดลงหน่อยหนึ่ง ต่อมาหญิงนั้นก็เปลี่ยนเป็นสตรีผู้มีบุตร ต่อมาก็กลายเป็นหญิงกลางคน คนแก่ และแก่หง่อมหมดความงามทั้งปวง พระพุทธเจ้าก็มาถึงบทเทศนาข้างต้นนั้น มุ่งไปที่พระรูปนันทาเถรีโดยเฉพาะ

จิตของพระรูปนันทาพิจารณาตาม ก็ได้วิมุตติหลุดพ้นจากอาสวะทั้งปวง บรรลุอรหันตผลในวันนั้น


คำตรัสพระพุทธเจ้า เหตุแห่งคำตรัส หน้า ๙๐

.

คำตรัสพระพุทธเจ้า "ผู้มีราตรีเดียวเจริญกว่า"


"ผู้มีปัญญาไม่ควรตามคิดถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ไม่ควรมุ่งหมายถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง เพราะว่าสิ่งใดที่ล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็ละเสียแล้ว สิ่งใดที่ยังไม่มาถึง สิ่งนั้นก็ยังไม่ได้มาถึง ผู้ใดเห็นแจ้งธรรมที่เกิดจขึ้นจำเพาะหน้าในที่นั้นๆ ในกาลนั้นๆ ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลน ครั้นรู้ธรรมนั้นแล้ว พึงให้ธรรมนั้นเจริญเนืองๆ

ควรเพียรควรทำเสียในวันนี้แหละ ใครเล่าจะพึงรู้ว่าความตายจะมีต่อพรุ่งนี้ เพราะว่าความผิดเพี้ยนต่อมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่ ไม่มีเลย
ผู้รู้ที่เป็นคนสงบระงับ ย่อมกล่าสรรเสริญผู้มีความเพียร ไม่เกียจคร้านในกลางวัน กลางคืน อยู่ด้วยความไม่ประมาทอย่างนี้ว่า "ผู้มีราตรีเดียวเจริญกว่า"

เหตุแห่งคำตรัส : พระมหากัจจายนเถระ

"ฯลฯ...พระมหากัจจายนะจำพรรษาอยู่แคว้นอวันตีได้หลายพรรษา ก็กลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้าที่วัดเชตวัน วันหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงภัทเทกรัตตสูตร โดยย่อดังคำตรัสข้างต้น จากนั้นพระพุทธองค์ก็เสด็จเข้าสู่พระวิหารที่ประทับ

ภิกษุทั้งหลายไม่มีโอกาสกราบทูลถามข้อสงสัยในคำตรัสข้างต้น จึงนิมนต์ให้พระมหากัจจายนะอธิบายให้ฟัง จนเข้าใจอย่างลึกซึ้ง พระพุทธเจ้าทรงกล่าวสรรเสริญว่า พระมหากัจจายนะเป็นเอตทัคคะด้านขยายความย่อให้พิสดารได้อย่างชัดเจน เป็นหนึ่งในพระอรหันต์ที่เข้าร่วมสังคายนาครั้งแรกที่ถ้ำสัตบรรคูหา เมืองราชคฤห์ ....ฯลฯ"


คำตรัสของพระพุทธเจ้า เหตุแห่งคำตรัส หน้า ๖๘

ขอบคุณภาพประกอบ จาก burgs'blog.

.

๕ กรกฎาคม ๒๕๕๒

พระคาถาเปิดตาปัญญา : สุนทรีวาณี



มุนินทะ วะทะนัม พุชะ

คัพพะ สัมคะวะ สุนทรี

ปราณีนัง สะระณัง วาณี

มัยหัง ปินะยะตัง มะนัง


พระธรรมคำสั่งสอน ซึ่งล้วนอุบัติจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้าอันมีความงา มล้ำเลิศประดุจนางฟ้าซึ่งถือกำเนิดจากดอกบัวการเอ่ยว าจานี้ ย่อมยังจิตใจข้าพเจ้า ให้แช่มชื่นเบิกบานแจ่มใส


พระคาถาเปิดตาปัญญา : สุนทรีวาณี เมื่อกล่าวพระคาถานี้แล้วจะมีความจำแม่นยำ คิดอะไรแจ่มใสทะลุปรุโปร่ง มีปัญญา มีสมาธิ มีความสุข คลายความประหม่าเมื่อต้องพูดท่ามกลางหมู่คน สร้างให้เกิดความมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองพูด
.
คำว่าสุนทรี แปลว่างาม วาณี แปลว่านางฟ้า นัยยะสำคัญของพระคาถานี้ นอกจากจะได้ระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยแล้ว จะรวมคุณของบิดามารดาด้วย เนื่องจากเป็นคาถาที่ชูความเป็นแม่ของทุกคน ผู้ที่สวดจะได้รับความคุ้มครองพิทักษ์รักษาจากนางฟ้า เหล่าเทวดานางฟ้าทั้งหลาย ท่านได้รับคำสรรเสริญนี้ จะมีความเบิกบาน กระแสจิตที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตาจะส่งกลับมายัง ผู้เจริญคาถานี้
.
ที่มา เป็นคาถาโบราณตั้งแต่สมัยสมเด็จพระสังฆราชในสมัยรัชก าลที่ 3 (วัดราชสิทธาราม) ซึ่งใครก็ตามที่เป็นลูกศิษย์ท่าน จะต้องเรียนคาถานี้ ไม่ว่าจะเรียนทางด้านปริยัติ หรือ ปฏิบัติ ซึ่งในอดีตตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาบที่ 5 ก็ได้เคยทรงเจริญพระคาถานี้ สมเด็จพระวันรัต (แดง) วัดสระเกศ ก็ได้ถวายให้รัชกาลที่ 5 ได้ทรงเจริญพระคาถานี้ด้วย
.
.
ขอบคุณเนื้อหาและภาพประกอบ จาก rinnn
.
.

คำตรัสของพระพุทธเจ้า "มุนี"

นาลกะ เธอจงทำใจให้มั่นคง วางตนให้เหมือนกัน ทั้งแก่คนที่ด่าและยกมือไหว้ ไม่มีความเย่อหยิ่ง รูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งสัมผัสทางกาย ไม่ต่างอะไรไปจากเปลวไฟในป่า

นาลกะ เธอจงรู้ไว้เถิดว่า น้ำในแม่น้ำน้อย ในหนอง ในห้วย ย่อมไหลดัง แต่ว่าน้ำในแม่น้ำใหญ่ย่อมไหลเงียบ สิ่งใดบกพร่อง สิ่งนั้นย่อมมีเสียงดัง สิ่งใดเต็ม สิ่งนั้นย่อมไม่มีเสียงดัง

คนโง่ย่อมทำตน เหมือนหม้อน้ำที่มีน้ำเพียงครึ่งเดียว ส่วนคนฉลาด ย่อมทำตนเหมือนหม้อน้ำที่มีน้ำเต็ม เพราะเป็นผู้สงบ สมณะใดรู้อยู่ สำรวมตน รู้เหตุแห่งความเสื่อมและความทุกข์แล้ว ไม่พูดมาก สมณะนั้นแล ได้ชื่อว่าเป็นมุณี ได้ชื่อว่าปฏิบัติตามปฏิปทาของมุณีได้อย่างเหมาะสม และได้ชื่อว่าบรรลุธรรมที่ทำให้เป็นมุนีแล้ว

เหตุแห่งคำตรัส : นาลกฤาษี

นาลกะเป็นหลายชายอันเกิดแต่น้องสาวของฤาษีอสิตะ (กาฬเทวินดาบส) อสิตดาบส เมื่อเข้าเฝ้าพระกุมารสิทธัตถะแล้ว ก็กลับมาบอกหลานขณะนั้นยังเด็กอยู่ ให้บวชคอยพระพุทธเจ้า ครั้งฤาษีนาลกะบวชได้ ๓๕ พรรษา ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ท่านก็ได้ยินเทวดาป่าวร้องว่าพระพุทธเจ้าทรางแสดงธรรมจักรแล้ว ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ท่านได้ใช้เวลา ๗ วัน ดั้นด้นไปเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลแนะนำและขอพระพุทธองค์ตรัสบอกข้อปฏิบัติของมุณี ซึ่งพระพุทธองค์ก็ได้ตรัสบอกดังส่วนหนึ่งของคำตรัสข้างต้น ทันทีที่ฟังธรรมจบ ท่านทูลขอบวชและน้อมเอาหลักมักน้อย ๓ ประการไปปฏิบัติคือ มักน้อยในการเห็น มักน้อยในการฟัง มักน้อยในการถาม นับเป็นพระสงฆ์รูปที่ ๖

พระนาลกะทูลลาพระพุทธเจ้าหลังจากบวช ไปอยู่อย่างสันโดษในป่าเป็นอิสระ พระพุทธองค์ไม่เรียกให้ไปร่วมประกาศพระธรรม พระนาลกะปฏิบัติโมไนยปฏิปทาอย่างเคร่งครัดขั้นสูงสุดก็บรรลุอรหัตตผล หลังจากนั้น ๗ เดือนก็นิพพาน ด้วยการพนมมือไปยังทิศทางวัดเวฬุวันที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ กายพิงภูเขาหิงคุละด้วยอาการสงบ เป็นผู้นิพพานรูปแรกในพุทธศาสนาอัฐิบรรจุในพระเจดีย์ที่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ


คำตรัสของพระพุทธเจ้า เหตุแห่งคำตรัส หน้า ๓๑

.

.

คำตรัสของพระพุทธเจ้า "ผู้จมในหล่ม"

ดูก่อนจุนทะ บุคคลผู้จมในหล่ม จะอุ้มบุคคลผู้จมในหล่มด้วยกันให้ขึ้นมานั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ บุคคลผู้ไม่จมในหล่ม จึงจะอุ้มบุคคลผู้จมไปในหล่มให้ขึ้นมาได้

ดูก่อนจุนทะ ผู้ที่ไม่ฝึกฝนตน ไม่ได้แนะนำตน ไม่กระทำตนให้ดับความเร่าร้อนด้วยตนเอง จะฝึกฝน จะแนะนำ และจะกระทำผู้อื่นให้ดับความเร่าร้อนย่อมเป็นไปไม่ได้ มีแต่ผู้ได้ฝึกฝนตน ได้แนะนำตน ได้กระทำตนให้ดับความเร่าร้อนด้วยตนเองแล้วเท่านั้น จึงจะฝึกฝน แนะนำและกระทำให้ผู้อื่นดับความเร่าร้อนได้

ข้อนี้ฉันใด ความไม่เบียดเบียน ก็มีไว้สำหรับดับความเบียดเบียน
การงดเว้นจากการทำลายชีวิตผู้อื่น มีไว้สำหรับดับการทำลายชีวิตผู้อื่น
การงดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ให้ มีไว้สำหรับดับการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ให้นั้น
จนกระทั่งถึงการไม่ถือมั่นทิฏฐิ มีไว้สำหรับดับการถือมั่นทิฏฐิเป็นที่สุด
.
เหตุแห่งคำตรัส : พระจุนทเถระ

พระจุนทเถระเป็นน้องชายต่อจากพระสารีบุตร ต่อจากท่านมีน้องชาย ๒ คน คือ พระอุปเสนเถระและพระเรวตเถระ บิดาชื่อวังคันตพราหมณ์ มารดาชื่อนางสารีพราหมณี ตำบลบ้านนาลกะ หรือนาลันทา แคว้นมคธ ท่านออกบวชตามพี่ชาย มีพระอานนท์เถระเป็นพระอุปัชฌาย์ ครั้นบวชมานานวัน ภิกษะและมหาชนก็พากันเรียกท่านว่า พระมหาจุนทะ หรือพระจุนทสมณุทเทส ซึ่งเป็นชื่อเรียกครั้งที่ท่านยังสามเณร ท่านเป็นพระอรหันต์ตั้งแต่เป็นสามเณรอายุได้เพียง ๗ ขวบเท่านั้น

ท่านมหาจุนทะเป็นธรรมกถึก คือ เป็นนักเทศน์ เป็นผู้ใฝ่ใจในการศึกษา ดังน้นเมื่อมีโอกาสเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าคราใด ท่านมักจะมีคำถาม กราบทูลถามอยู่เนืองๆ ครั้งปฐมพุทธกาลท่านเป็นหนึ่งในหัวหน้าพระอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า

ครั้งนี้พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร พระเถระก็ได้เข้าเฝ้ากราบทูลถามปัญหาเรื่องการละทิฏฐิ ที่ประกอบด้วยอัตตา (ตัวตน) อันเป็นเหตุแห่งคำตรัสตอบข้างบน


คำตรัสของพระพุทธเจ้า เหตุแห่งคำตรัส หน้า ๕๘

.

คำตรัสของพระพุทธเจ้า "หูเบา"

บุคคลไม่ควรพยายามเสียทุกสิ่งทุกอย่าง ควรเป็นตัวของตัวเอง ไม่ควรอาศัยผู้อื่นเลี้ยงชีพ และไม่พึงมีแผลประพฤติธรรม บุคคลชื่อว่า เป็นคนดีด้วยเหตุเพียงรูปร่าง ผิวพรรณก็หามิได้ ไม่ควรไว้ใจคนที่เห็นเพียงครู่เดียว คนชั่วเป็นอันมากเที่ยวไปด้วยรูปลักษณะแห่งคนดี เหมือนหม้อดินและหม้อโลหะ ซึ่งฉาบไว้ด้วยสุวรรณ มองแวววาวแต่เพียงภายนอก แต่ภายในไม่สะอาด คนชั่วในโลกนี้ เมื่อบริวารแวดล้อมแล้ว ก็เที่ยวไปได้อย่างคนดี เขางามแต่ภายนอกแต่ภายในไม่บริสุทธิ์

เหตุแห่งคำดำรัส : พระเจ้าปเสนทิโกศล
เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกสล กล่าวสรรเสริญพระพุทธองค์ว่าเป็น "สัพพัญญู" รู้แจ้งแทงตลอดโดยแท้ ณ ที่ประตูวัดบุพพาราม พระพุทธองค์ก็เปล่งคำตรัสออกมาดังกล่าว เพื่อเตือนสติพระเจ้าปเสนทิโกศล ผู้เป็นคนเบาปัญญา และหูเบา เชื่อคนรอบข้างโดยง่าย จนเกิดเหตุโศกนาฏกรรมที่พระองค์วางแผนลอบฆ่าพันธุลเสนา ผู้เป็นทั้งพระสหายผู้เก่งกล้า และสวามิภักดิ์ต่อพระองค์อย่างถึงที่สุด พร้อมด้วยลูกชายทั้งสิ้น ๓๒ คน เพราะเชื่อเสนาบดีรอบข้างที่ริษยาพันธุลเสนา ยุแหย่ใส่ร้ายว่าจะชิงบัลลังก์นั่นเอง พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงตรอมใจ ไร้สุขเป็นทุกข์ตลอดเวลา เมื่อทราบความจริงทั้งหมด

นางมัลลิกา ชาวกุสินารา คือภรรยาของพันธุละ เป็นพุทธมามกะทีที่เคร่งในพระธรรมวินัยอย่างยิ่ง นางเป็นผู้หนึ่งในสามคนที่มีเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ ซึ่งมีด้วยกันทั้งหมดเพียง ๓ คนเท่านั้น คือ นางมัลลิกา นางวิสาขา และนางเศรษฐิธิดา ผู้เป็นภริยาแห่งเทวปานิยสารคฤหบดี เมืองพาราณสี และนางนี้แหละเป็นผู้ถวายเครื่องมหาลดาปสาธน์คลุมพระบรมศพของพระพุทธเจ้า


จากหนังสือ คำตรัสของพระพุทธเจ้า เหตุแห่งคำดำรัส หน้า ๖๓
.
.

๓ กรกฎาคม ๒๕๕๒

มาสร้างบุญบารมีกันเถอะ




1.นั่งสมาธิอย่างน้อยวันละ15นาที(หรือเดินจงกรมก็ได้)
อานิสงส์---เพื่อสติปัญญาที่เฉลียวฉลาดขึ้นทั้งภพนี้และภพหน้าเพื่อจิตใจที่สว่างผ่อนปรนจากกิเลส ปล่อยวางได้ง่ายจิตจะรู้วิธีแก้ปัญหาชีวิตโดยอัตโนมัติ ชีวิตจะเจริญรุ่งเรืองไม่มีวันอับจนผิวพรรณผ่องใส สุขภาพกายและจิตแข็งแรงเจ้ากรรมนายเวรและญาติมิตรที่ล่วงลับจะได้บุญกุศล

2.สวดมนต์ด้วยพระคาถาต่างๆอย่างน้อยวันละครั้งก่อนนอน
อานิสงส์---เพื่อให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง ชีวิตหน้าที่การงานเจริญก้าวหน้าเงินทองไหลมาเทมา แคล้วคลาดจากอุปสรรคทั้งปวง จิตจะเป็นสมาธิได้เร็วแนะนำพระคาถาพาหุงมหากา,พระคาถาชินบัญชร,พระคาถายอดพระกัณฑ์ไตรปิฎก เป็นต้นเมื่อสวดเสร็จต้องแผ่เมตตาทุกครั้ง

3.ถวายยารักษาโรคให้วัด,ออกเงินค่ารักษาให้พระตามโรงพยาบาลสงฆ์
อานิสงส์---ก่อให้เกิดสุขภาพร่มเย็นทั้งครอบครัว โรคที่ไม่หายจะทุเลาสุขภาพกายจิตแข็งแรง อายุยืนทั้งภพนี้และภพหน้า ถ้าป่วยก็จะไม่ขาดแคลนการรักษา

4.ทำบุญตักบาตรทุกเช้า
อานิสงส์---ได้ช่วยเหลือศาสนาต่อไปทั้งภพนี้และภพหน้า ไม่ขาดแคลนอาหารตายไปไม่หิวโหย อยู่ในภพที่ไม่ขาดแคลน ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์

5.ทำหนังสือหรือสื่อต่างๆเกี่ยวกับธรรมะแจกฟรีแก่ผู้คนเป็นธรรมทาน
อานิสงส์---เพราะธรรมทานชนะการให้ทานทั้งปวง ผู้ให้ธรรมจึงสว่างไปด้วยลาถยศสรรเสริญ ปัญญา และบุญบารมีอย่างท่วมท้น เจ้ากรรมนายเวรอโหสิกรรมให้ชีวิตจะเจริญรุ่งเรืองอย่างไม่คาดฝัน

6.สร้างพระถวายวัด
อานิสงส์---ผ่อนปรนหนี้กรรมให้บางเบา ให้ชีวิตเจริญรุ่งเรืองสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง แคล้วคลาดจากอุปสรรคทั้งปวง ครอบครัวเป็นสุขได้เกิดมาอยู่ในร่มโพธิ์ของพุทธศาสนาตลอดไป

7.แบ่งเวลาชีวิตไปบวชชีพรามณ์หรือบวชพระอย่างน้อย9วันขึ้นไป
อานิสงส์---ได้ตอบแทนคุณพ่อแม่อย่างเต็มที่ผ่อนปรนหนี้กรรมอุทิศผลบุญให้ญาติมิตรและเจ้ากรรมนายเวรสร้างปัจจัยไปสู่นิพพานในภพต่อๆไป ได้เกิดมาอยู่ในร่มโพธิ์ของพุทธศาสนาจิตเป็นกุศล

8.บริจาคเลือดหรือร่างกาย
อานิสงส์---ผิวพรรณผ่องใส สุขภาพแข็งแรง ช่วยต่ออายุต่อไปจะมีผู้คอยช่วยเหลือไม่ให้ตกทุกข์ได้ยาก เทพยดาปกปักรักษาได้เกิดมามีร่างกายที่งดงามในภพหน้า ส่วนภพนี้ก็จะมีราศีผุดผ่อง

9.ปล่อยปลาที่ซื้อมาจากตลาดรวมทั้งปล่อยสัตว์ไถ่ชีวิตสัตว์ต่างๆ
อานิสงส์---ช่วยต่ออายุ ขจัดอุปสรรคในชีวิตชดใช้หนี้กรรมให้เจ้ากรรมนายเวรที่เคยกินเข้าไป ให้ทำมาค้าขึ้นหน้าที่การงานคล่องตัวไม่ติดขัด ชีวิตที่ผิดหวังจะค่อยๆฟื้นคืนสภาพที่สดใสเป็นอิสระ

10.ให้ทุนการศึกษา,บริจาคหนังสือหรือสื่อการเรียนต่างๆ,อาสาสอนหนังสือ
อานิสงส์---ทำให้มีสติปัญญาดี ในภพต่อๆไปจะฉลาดเฉลียวมีปัญญาได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนอย่างรอบรู้ สติปัญญาสมบูรณ์พร้อม

11.ให้เงินขอทาน,ให้เงินคนที่เดือดร้อน(ไม่ใช่การให้ยืม)
อานิสงส์---ทำให้เกิดลาภไม่ขาดสายทั้งภพนี้และภพหน้า ไม่ตกทุกข์ได้ยากเกิดมาชาติหน้าจะร่ำรวยและไม่มีหนี้สิน ความยากจนในชาตินี้จะทุเลาลงจะได้เงินทองกลับมาอย่างไม่คาดฝัน

12.รักษาศีล5หรือศีล8
อานิสงส์---ไม่ต้องไปเกิดเป็นเปรตหรือสัตว์นรกได้เกิดมาเป็นมนุษย์ผู้ประเสริฐครบบริบูรณ์ ชีวิตเจริญรุ่งเรืองกรรมเวรจะไม่ถ่าโถม ภัยอันตรายไม่ย่างกราย เทวดานางฟ้าปกปักรักษา
.
ขอบคุณภาพประกอบ จาก Buddhist Elibery