๖ กรกฎาคม ๒๕๕๒

คำตรัสของพระพุทธเจ้า "มุสาโทษ"


"ภิกษุทั้งหลาย! บุคคลเมื่อยังไม่พิจารณา หรือยังไม่เห็นโทษของผู้อื่นโดยชัดเจนแล้ว ก็ไม่พึงลงโทษผู้ใด อนึ่ง บุคคลผู้ละความสัตย์เสียแล้ว และชอบพูดแต่มุสา ไม่สนใจในเรื่องปรโลก จะไม่ทำบาปนั้นเป็นอันไม่มี"


เหตุแห่งคำตรัส : นางจิญจมาณวิกา

ขณะที่ขบวนการนางจิญจมาณวิกาปริพาชกและเหล่าเดียรถีย์ ช่วยกันโหมกระพือข่าวว่านางจิญจมาณวิการเป็นนางบำเรอของพระพุทธเจ้าออกไปในทุกหย่อมหญ้า พระพุทธเจ้ายังคงสงบเป็นปกติ พระอานนท์สิทุกข์เหลือหลาย วันหนึ่งจึงปลีกวิเวกเข้าไปนั่งหลบผู้คนยังดงไม้สีเสียดเพียงลำพัง ขณะนั้นมีมาณพตระกูลพราหมณ์สองคนเดินเข้ามายังบริเวณที่ท่านนั่ง คือ วาเสฎฐะ กับ ภารัทวชะ วาเสฏฐะปรารภขึ้นมาว่า ตนนั้นเชื่อเรื่องเล่าลือเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า ท่านละเชื่อหรือเปล่า ภารัทวชะกล่าวตอบอย่างนุ่มนวลว่า

"แต่ฉันยังไม่เชื่อ เรื่องอย่างนี้ใส่ร้ายกันได้ ผู้หญิงเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดของคนใจบาป ที่จะใช้เป็นเครื่องทำลายเกียรติยศของใครต่อใคร เพื่อนรักอย่าเชื่ออะไรง่ายเกินไป คอยดูกันให้ถึงที่สุด คนในโลกนี้ชอบใส่ร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ประโยชน์ขัดกัน" พระอานนท์ได้ฟังดังนั้นใจก็ชื้นแล้ว

เมื่อเรื่องราวของนางจิญจมาณวิกาใส่ร้ายพระพุทธเจ้าจบลงแล้ว ผู้เฒ่าผู้แก่จึงสั่งสอนบุตรธิดาว่า อย่าเอาอย่างนางจิญจมาวิกา และเปรียบเป็นคำพังเพยว่า "อย่าปาอุจจาระขึ้นฟ้า" แม้ในหมู่สงฆ์เองก็มีการประชุมกัน ณ ธรรมสภา วัดเชตวันมหาวิหาร ได้กล่าวถึงเรื่องนี้เช่นกัน อันเป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าตรัสคำข้างต้น เพื่อให้มีสติในการพิจารณาโทษผู้อื่น


คำตรัสพระพุทธเจ้า เหตุแห่งคำตรัส หน้า ๙๑

.

.

ไม่มีความคิดเห็น: